Home KNOWLEDGE รู้จักกับ : ถุงมือนิรภัย (Safety Gloves) มีกี่แบบ ใช้งานอย่างไรให้ถูกวิธี

รู้จักกับ : ถุงมือนิรภัย (Safety Gloves) มีกี่แบบ ใช้งานอย่างไรให้ถูกวิธี

by admin
485 views
Safety-gloves

การใช้งาน ถุงมือนิรภัย (Safety Gloves) ให้ถูกวิธี

ถุงมือนิรภัย สวมเพื่อป้องกันมือและนิ้วจากอันตรายในสถานที่ทำงาน นอกจากป้องกันอันตรายแล้วยังให้การยึดเกาะที่ดี และ เพิ่มความคล่องตัวในขณะที่ทำงานกับเครื่องมือหรือเครื่องจัก มีการใช้ถุงมือนิรภัยในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแพร่หลาย เช่น การก่อสร้าง การผลิต การซ่อมบำรุง การดูแลสุขภาพ หรือแม้แต่ตามครัวเรือน การใช้งานถุงมือจำเป็นต้องเลือกให้ถูกต้องตรงตามประเภทของการใช้งาน เพื่อให้ถุงมือนั้นสามารถป้องกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

  1. ประเภทของถุงมือนิรภัย

ถุงมือนิรภัยมีหลายประเภทให้เลือกใช้งาน ซึ่งแต่ละประเภทจะมีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างกันไป โดยถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับลักษณะของการใช้งาน ตัวอย่างประเภทของถุงมือนิรภัยได้แก่

  • ถุงมือกันบาด ส่วนใหญ่ทำมาจากเส้นใยชนิดพิเศษ ที่มีคุณสมบัติป้องกันการบาด เฉือน จากของมีคม  เช่น เคฟลาร์หรือตาข่ายเหล็ก ซึ่งถุงมือกันบาดจะมีหลายระดับขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาผลิต
  • ถุงมือกันสารเคมี  ส่วนใหญ่ทำจากวัสดุที่ทนต่อสารเคมี เช่น นีโอพรีนหรือไนไตรล์เพื่อป้องกันการสัมผัสสารเคมี
  • ถุงมือกันความร้อน ส่วนใหญ่ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์สำหรับต้านความร้อนสูง เช่น ไฟเบอร์กลาส อลูมิไนซ์หรือหนัง
  • ถุงมือกันความเย็น ทำจากวัสดุที่สามารถทนความเย็นได้ เช่น อะคริลิกหรือโพลีเอสเตอร์ เพื่อป้องกันอุณหภูมิที่เย็นจัด
  • ถุงมือกันกระแทก วัสดุที่ใช้ในการผลิตมีลักษณะคล้ายถุงมือกันบาด แต่สามารถระบายอากาศได้ดีกว่า และมีส่วนสำหรับรองรับแรงกระแทกบริเวณมือและนิ้ว เช่น โฟมหรือพลาสติกเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากแรงกระแทก
  • ถุงมือฉนวนไฟฟ้า ทำด้วยยางหรือวัสดุฉนวนอื่น ๆ เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า
  • ถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง ผลิตจากวัสดุอย่างลาเท็กซ์หรือไนไตรล์ ถุงมือแบบใช้แล้วทิ้งมักใช้ในสถานพยาบาลหรือบริการด้านอาหารเพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อน
  • ถุงมือสำหรับงานเชื่อม ทำด้วยวัสดุ เช่น หนัง เพื่อป้องกันความร้อน ประกายไฟ และรังสียูวีนอกจากนี้ยังมีถุงมือประเภทอื่นตามลักษณะของการป้องกัน ซึ่งถุงมือนิรภัยแต่ละประเภท ต้องได้รับมาตรฐานตามที่กำหนด จึงจะมีความปลอดภัยเมื่อนำมาใช้งาน

มาตรฐาน

 

  1. มาตรฐานถุงมือนิรภัย 

ถุงมือนิรภัย มีหลายประเภทตามลักษณะของการป้องกันอันตราย ซึ่งมาตรฐานถุงมือนิรภัยที่นิยมใช้และพบเห็นได้บนถุงมือนิรภัยโดยทั่วไปได้แก่ มาตรฐาน EN ถุงมือนิรภัยแต่ละประเภท จะแยกรหัสตามมาตรฐาน ดังต่อไปนี้

 

EN381

 

  • EN374 ถุงมือสำหรับป้องกันงานเคมีและอนุภาคขนาดเล็ก
  • EN381 ถุงมือสำหรับป้องกันงานเลื่อยด้วยมือ
  • EN388 ถุงมือสำหรับป้องกันงานเครื่องจักร
  • EN407 ถุงมือสำหรับป้องกันงานที่ใช้ความร้อนสูง
  • EN420 ถุงมือสำหรับป้องกันงานทั่วไป
  • EN421 ถุงมือสำหรับป้องกันงานรังสี, ไออนและสารเจือปนรังสี
  • EN455 ถุงมือสำหรับป้องกันงานการแพทย์
  • EN511 ถุงมือสำหรับป้องกันงานเย็น
  • EN659 ถุงมือสำหรับป้องกันงานดับเพลิง
  • EN30819 ถุงมือสำหรับป้องกันการลื่นไหล, การสั่นสะเทือน
  • EN1082 ถุงมือสำหรับป้องกันมือจากของมีคม เช่นมีด
  • EN60903 ถุงมือสำหรับป้องกันงานไฟฟ้า (ถุงมือเป็นฉนวนป้องกันไฟฟ้า)

หากเราเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการเลือกซื้ออุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยประเภทถุงมือนิรภัย ต้องตรวจสอบมาตรฐานของถุงมือแต่ละประเภท ให้ตรงตามลักษณะของอันตรายตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ข้างต้น เนื่องจากแต่ละมาตรฐานจะมีวิธีการทดสอบที่แตกต่างกัน ตามประเภทของถุงมือนิรภัยชนิดนั้นๆ 

 

PPE-ถุงมือ

 

  1. ข้อควรระวังในการเลือกใช้ถุงมือนิรภัย

สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเมื่อต้องใช้ถุงมือนิรภัย นอกจากอันตรายเฉพาะที่พบในสถานที่ทำงานแล้ว การเลือกถุงมือที่ดีควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

  • ตรวจสอบมาตรฐานของถุงมือนิรภัยก่อนการใช้งานว่ามีมาตรฐานหรือไม่ และมาตรฐานตรงตามความต้องการใช้ถุงมือหรือไม่ เช่น มาตรฐาน EN หรือ ANSI เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าถุงมือพอดีและสวมใส่สบาย ถุงมือที่ไม่พอดีอาจเป็นอันตรายได้เนื่องจากอาจขัดขวางการเคลื่อนไหวและส่งผลต่อความคล่องตัวในการทำงาน
  • เลือกถุงมือนิรภัยให้เหมาะสมกับงานที่ทำอยู่ เช่น ถุงมือที่ทำจากนีโอพรีนหรือไนไตรล์เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี ในขณะที่ถุงมือที่ทำจากหนังหรือไฟเบอร์กลาส อะลูมิไนซ์ เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับงานที่ต้องสัมผัสกับความร้อนสูง
  • พิจารณาระยะเวลาการใช้งาน หากต้องสวมถุงมือเป็นเวลานาน ให้เลือกถุงมือที่สวมใส่สบายและระบายอากาศได้ดีเพื่อลดความเมื่อยล้าและความอับชื้นของมือ
  • นึกถึงความเหมาะสมของการใช้งาน เช่น ถุงมือบางชนิดอาจเหมาะสำหรับใช้ในร่ม แต่ไม่เหมาะสำหรับใช้กลางแจ้ง
  • บำรุงรักษาถุงมือนิรภัยอย่างเหมาะสมสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของถุงมือได้ และทำให้มั่นใจว่าถุงมือยังคงให้การป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ตรวจสอบถุงมือนิรภัยเป็นประจำก่อนการใช้งาน เพราะถุงมืออาจเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาและอาจทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันลดลง
  • เปลี่ยนถุงมือนิรภัยใหม่ทันทีหากพบว่าชำรุด เพราะจะไม่สามารถป้องกันอันตรายได้ เนื่องจากถุงมือนิรภัยสวมใส่เพื่อป้องกันอันตรายไม่ใช่ถุงมือที่ใส่โดยทั่วไป

สรุป

ถุงมือนิรภัย เป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล PPE ที่ช่วยปกป้องมือและนิ้วของผู้ปฏิบัติงานจากอันตรายต่างๆ เช่น สารเคมี ความร้อน ความเย็น ของมีคม ซึ่งถือได้ว่ามีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บและป้องกันอันตรายจากการทำงานได้เป็นอย่างดี หากปล่อยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานโดยปราศจากอุปกรณ์ป้องกัน ย่อมส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บตามมา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดหาและดูแลให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่ รวมถึงการสอนวิธีการใช้และการบำรุงรักษาที่ถูกต้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Welcome

ยินดีต้อนรับสู่โลกของการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด บริการให้ข้อมูลด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน update ข้อมูลสดใหม่ทุกวัน

เรื่องล่าสุด

©2023 educatpro, News Organization – All Right Reserved. Designed and Developed by Educatpro